ประวัติ หมากล้อม โกะ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า หมากล้อม ในภาษาไทย หรือ เหวยฉี ในภาษาจีน เป็นกีฬาหมากกระดานชนิดหนึ่งที่มี ประวัติ ความเป็นมากว่า 3,000 ปี เกิดขึ้นครั้งแรกในจีน และต่อมาได้เผยแพร่ไปยังเกาหลีและญี่ปุ่น เป็นที่นิยมเล่นกันในหมู่ผู้บริหารประเทศระดับฮ่องเต้ แม่ทัพนายกอง และปัญญาชนชั้นสูง ปัจจุบันนิยมเล่น กันแพร่หลายกว่า 70 ประเทศ ในทวีปเอเชีย ยุโรป และ อเมริกา โดยเฉพาะในญี่ปุ่นและเกาหลี ญี่ปุ่นรู้จักโกะเมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อนจนปัจจุบันพัฒนามาเป็นกีฬาประจำชาติอย่างหนึ่ง หมากล้อม เป็น 1 ใน 4 ของศิลปะประจำชาติของจีน อันประกอบด้วย ดนตรี โคลงกลอน การวาดภาพ และ หมากล้อม ชาวจีนโบราณเปรียบเทียบกา เล่นโกะไว้ว่า เสมือนการสนทนาด้วยมือ บางคนว่าเหมือนฝิ่นของปัญญาชน บางคนบอกว่า เป็นหมากกระดานที่มีชีวิต
เนื่องจากกระดาน หมากล้อม มีพื้นที่เล่นมากถึง 361 จุด บนเส้นที่ตัดกันด้านละ 19 เส้น โกะจึงเป็นเกมที่เล่นยากและเป็นศิลปะสุดยอดของการเล่นหมากกระดาน ทั้งยังเป็นศาสตร์ท้าทายให้ผู้เล่นศึกษาแนวคิดในการวางแผน มองการณ์ไกล หาโอกาสสร้าง ต่อสู้ และบุกชิงพื้นที่มาครอบครอง ภายใต้หลักการให้คู่ต่อสู้อยู่รอดได้ โดยใช้เบี้ยขาวและดำวางบนกระดานสร้างกลุ่มให้เกิดกำลังให้มากที่สุด เพื่อความได้เปรียบในเกม
การตัดสินใจวางเม็ดโกะแต่ละครั้งบนกระดาน ยังต้องอาศัยหลักการของการใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ การรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนประมาณตนเอง รวมไปถึงความอดทนอดกลั้นของผู้เล่น ทั้งนี้เพราะการเล่นแต่ละกระดานนั้นผู้เล่นมีโอกาสเท่ากัน ทั้งทางด้านทรัพยากรและพื้นที่ อยู่ที่ว่าการเตือนสติตนเองเมื่อเพลี่ยงพล้ำ สำรวจตัวเอง หาจุดบกพร่องและแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าให้ดีที่สุดนั้น ใครทำได้มากกว่ากัน
ความสำคัญของ หมากล้อม มิใช่เป็นเพียงศิลปะในการเล่นเกมกีฬาที่สนุก ตื่นเต้น และท้าทายเท่านั้น แนวความคิดและปรัชญาที่เกิดจากทักษะและความชำนาญของผู้เล่น เช่นการวางแผน การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพและผลตอบแทนสูงสุด การสร้างกลุ่มกำลังบนรากฐานของการให้โอกาสและการแบ่งปัน การสร้างสมดุลย์ของสภาวะหน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆ และความคุ้นเคยต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีวันจบสิ้น ประสบการณ์เหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านการบริหาร การปกครอง และแม้กระทั่งการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างชาญฉลาด หมากล้อม จึงเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูง ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา เยอรมัน ฝรั่งเศส หรือในเอเชีย เช่น จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น
ประวัติของ หมากล้อม ในประเทศไทยนั้น ได้มีการเล่นกันในกลุ่มคนไทยมาตั้งแต่ปี 1980 ต่อมาใน ปี 2544 ได้จัดตั้งชมรม หมากล้อม (โกะ) แห่งประเทศไทย และปี 2546 เปลี่ยนสถานะภาพเป็น สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อาคาร สีลมพาร์ควิว ชั้น 2 ถนนสีลม ซอยศาลาแดง2 เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500 และได้รับบุคคลภายนอกเป็นสมาชิก รวมทั้งเปิดการอบรมหมากล้อมขั้นพื้นฐานและระดับกลาง จัดการวัดระดับการเล่นโดยใช้มาตรฐานของสมาคมฯ จัดการแข่งขันและกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมความรู้เพิ่มทักษะในการเล่น อีกทั้งสมาคมฯ ยังได้จัดวิทยากรบรรยายเพื่อการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่หมากล้อมให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทย
Credit by คุณ ป๋อง สำนักกิจจกรมสังคม CP all